FAMZ

ธุรกิจครอบครัว VS ธุรกิจทั่วไป เรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไร

15/11/2024

 

 


ธุรกิจครอบครัว และ ธุรกิจทั่วไปจะสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างไรบ้างนั้น มีการศึกษาถึงธุรกิจครอบครัวในประเทศอินเดีย และประเทศต่างๆ เปรียบเทียบกับธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ของครอบครัวอย่างน่าสนใจ และน่าจะใช้ประยุกต์ได้กับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอินเดียประกอบด้วยองค์กรธุรกิจที่มีรูปแบบความเป็นเจ้าของที่หลากหลาย รวมถึงธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม เช่น บริษัท Tatas, Godrejs หรือ Birlas เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ของครอบครัว แต่เป็นของรัฐ (ONGC หรือ SAIL) หรือบริษัทข้ามชาติ (HUL หรือ BATA) หรือมีกลุ่มเจ้าของที่หลากหลาย (L&T หรือ Infosys) อีกด้วย 

 

แต่ถึงกระนั้น ธุรกิจครอบครัวก็เป็นรูปแบบธุรกิจที่โดดเด่นและเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจอินเดีย เนื่องจากมีขนาดธุรกิจตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จนกล่าวได้ว่า มากกว่า 90% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในอินเดียเป็นธุรกิจครอบครัว 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ของครอบครัวต่างมีจุดเด่นจุดด้อยที่ทำให้ทั้งประสบความสำเร็จและความล้มเหลวแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจแต่ละประเภทจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจของตนต่อไป 

 

ธุรกิจทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้จากธุรกิจครอบครัว ดังนี้
1) การมุ่งเน้นเป้าหมายระยะยาวและทุนนิยมอดทน (Patient Capitalism)  
ธุรกิจครอบครัวอินเดียจำนวนมากที่เป็นที่รู้จัก เช่น Tatas, Birlas, Burmans และ Murugappas เป็นต้น สามารถดำเนินกิจการอยู่มาได้ 5 ชั่วอายุคนหรือนานกว่านั้น เนื่องจากการมุ่งเน้นเป้าหมายในระยะยาวและทุนนิยมอดทน (Patient Capitalism)  โดยบริษัทให้ความสำคัญกับผลกำไรในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น อีกทั้งการมุ่งเน้นเป้าหมายในระยะยาวของธุรกิจครอบครัวเอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จึงต้องใช้เวลายาวนานจึงจะบรรลุผลและได้รับผลกำไร ซึ่งปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ทั่วโลก 

 

ในธุรกิจครอบครัวที่มีนวัตกรรมมากที่สุดหลายแห่งในอุตสาหกรรมยา เช่น บริษัท Merck ของเยอรมนี หรือ the Swiss แห่ง Roche Group เป็นต้น ทั้งนี้ การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวช่วยให้พัฒนาแผนงานหรือแนวคิดได้นานขึ้น และช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีผลงานเหนือกว่าในการแข่งขันระยะยาวจึงทำให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ยาวนานกว่า ขณะที่ธุรกิจที่บริหารด้วยมุมมองระยะสั้นจะตอบสนองต่อแนวโน้มที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะต้องแลกด้วยต้นทุนของกำไรระยะยาว 

 

ทั้งนี้ การวิจัยชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในระยะยาวจะสามารถสแกนสภาพแวดล้อมได้กว้าง เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในระยะยาว และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้น 

 

2) ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
นี่เป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เนื่องจากการมีความผูกพันส่วนตัวกับเจ้าของครอบครัว ธุรกิจครอบครัวจึงมักมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย ลูกค้า และพนักงาน อีกทั้งธุรกิจครอบครัวยังเก่งในเรื่องการเข้าหาชุมชนและแสดงอัตลักษณ์ของครอบครัว มีความไว้วางใจและการพึ่งพากันในชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละแห่ง จึงช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเอาชนะความท้าทายที่เกิดจากความไม่แน่นอนในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ 

 

ทั้งนี้ ความร่วมมืออันแข็งแกร่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากสามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจและสร้างผลกำไรได้เร็วกว่าธุรกิจทั่วไป

 

3) การนำค่านิยมครอบครัวมาใช้ในทางปฏิบัติ 
บทเรียนสำคัญที่สุดจากธุรกิจครอบครัวอีกอย่างหนึ่ง คือ รากฐานที่แข็งแกร่งของค่านิยมครอบครัว การหยั่งรากลึกของค่านิยมครอบครัวช่วยให้ธุรกิจครอบครัวพัฒนาวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกันในการทำธุรกิจ และค่านิยมจะขับเคลื่อนนโยบายและแนวปฏิบัติในธุรกิจครอบครัว รวมถึงค่านิยมยังเป็นเข็มทิศทางศีลธรรม สร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยม และช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความมั่นคงและรักษาแนวปฏิบัติที่สม่ำเสมอ สามารถเอาชนะความยากลำบากและแก้ไขข้อขัดแย้งทางจริยธรรมในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 

 

ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการนำค่านิยมครอบครัวมาใช้ในทางปฏิบัติ พบว่า Tatas และกลุ่ม Godrej Group ได้รับความไว้วางใจและความผูกพันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมที่มีรากฐานมาจากระบบค่านิยมที่แข็งแกร่ง ซึ่งสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง

 

ธุรกิจครอบครัวสามารถเรียนรู้จากธุรกิจทั่วไปที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1) ความเป็นมืออาชีพ 
ความเป็นมืออาชีพมีสองมิติ คือ ความเป็นมืออาชีพขององค์กรและความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ธุรกิจทั่วไปที่มีการบริหารและจัดการอย่างมีประสิทธิผลแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในระดับสูงขององค์กร ซึ่งทำให้เกิดสายการบังคับบัญชาและการตัดสินใจที่ชัดเจน การกำหนดกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน บทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน และการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร เป็นต้น 

 

ส่วน “ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน” หมายถึง การบริหารจัดการที่ยึดมั่นในหลักการ ค่านิยม และจริยธรรม ในขณะที่ฝึกฝนความเป็นมืออาชีพ ผู้บริหารของบริษัทที่ไม่ใช่ของครอบครัวจะมีวินัยในตนเองและมีอำนาจในการตัดสินใจ ความเป็นมืออาชีพเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเป็นเลิศและความสามารถทางวิชาชีพ ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวจึงสามารถพัฒนากิจวัตร ผลลัพธ์การบริหาร การควบคุม และประสิทธิผลให้ดีขึ้นได้ด้วยการพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ
    
2) การบริหารจัดการความสามารถและทรัพยากร 
อีกด้านหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวสามารถเรียนรู้ได้จากธุรกิจทั่วไป คือ การบริหารจัดการความสามารถในการขยายขนาด ทั้งนี้ ความสามารถของบริษัทในการรวบรวมความสามารถและทรัพยากรที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ 

 

สำหรับธุรกิจทั่วไปนั้นมีการบริหารจัดการความสามารถที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีพนักงานที่หลากหลายและมีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจึงสามารถรวบรวมทรัพยากรและความสามารถ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าและเจ้าของได้อย่างรวดเร็ว และด้วยความสามารถและทักษะในการจัดการทรัพยากรนี้เองจึงทำให้ธุรกิจทั่วไปสามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวที่มุ่งสู่การเติบโตสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

 

3) ความเด็ดขาดและความรับผิดชอบ 
กระบวนการตัดสินใจที่มีโครงสร้างที่ดี พนักงานมีความเป็นมืออาชีพคุณภาพสูง เกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนสำหรับปัญหาทางธุรกิจที่สำคัญ และแนวทางแบบมืออาชีพในการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ช่วยเพิ่มความเด็ดขาดของธุรกิจทั่วไป รวมถึงยังมีความรับผิดชอบในระดับสูงต่อผลลัพธ์ที่กำหนดเป้าหมายจากการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งหากไม่บรรลุผลตามที่ต้องการก็จะดำเนินมาตรการแก้ไขทันที 

 

สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจยังอยู่ในเส้นทางเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ขณะที่ธุรกิจครอบครัวมักถูกมองว่า ขาดความเด็ดขาด มีบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบที่ไม่ดีนัก ธุรกิจครอบครัวจึงจะได้ประโยชน์อย่างมากหากสามารถนำบรรทัดฐานความเด็ดขาดและความรับผิดชอบมาใช้ได้

 

ดังนั้น จากจุดเด่นของธุรกิจในแต่ละประเภทที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น หากสามารถแลกเปลี่ยนและพยายามเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้ ก็จะทำให้ทั้งธุรกิจครอบครัวและธุรกิจที่ไม่ใช่ของครอบครัวสามารถพัฒนาผลลัพธ์ในการปฏิบัติงานของตนให้ดียิ่งขึ้นได้แน่นอน

 

#ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว #บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว 

#ธุรกิจครอบครัว #ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัว 

#FAMZ  #การสืบทอดธุรกิจ #การบริหารธุรกิจครอบครัว 

 


ที่มา: Navneet Bhatnagar, Nupur Pavan Bang and Sougata Ray.  2023.  What family and non-family businesses can learn from each other.  The Economic Times News.  Available: https://economictimes.indiatimes.com/news/company/corporate-trends/what-family-and-non-family-businesses-can-learn-from-each-other/articleshow/99276293.cms?from=mdr

related

สร้างผู้นำ ต้องสร้างกันตั้งแต่รากฐาน

24/03/2025

Read

ควรไล่สมาชิกในครอบครัวออกจากธุรกิจครอบครัวหรือไม่

19/12/2024

Read

เปิด 4 ปัจจัยความสำเร็จธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตแบบยั่งยืน

04/08/2024

Read

ทายาทควรเรียนรู้การบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวเมื่อใด

21/04/2024

Read